ประวัติจังหวัดยะลา

ประวัติจังหวัดยะลา

ประวัติความเป็นมาของจังหวัดยะลา คำว่า "ยะลา” มาจากภาษาพื้นเมืองเดิมว่า "ยะลอ” ซึ่งแปลว่า "แห” ตามประวัติตั้งแต่สมัย สุโขทัยถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสิทร์นั้น "เมืองยะลา” เป็นส่วนหนึ่งของเมืองมณฑลปัตตานี ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดเกล้าให้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคใหม่ เป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล โดยออกประกาศข้อบังคับสำหรับการปกครอง ๗ หัวเมือง ร.ศ.๑๒๐ ซึ่งประกอบด้วย เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา ระแงะ และเมืองรามัน ในแต่ละเมืองมีพระยาเมืองเป็นผู้รักษาราชการ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้มีการยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน "เมืองยะลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน” สำหรับเมืองยะลา ได้มีการโยกย้ายที่ตั้งมาแล้ว ๔ ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ ๑ ตั้งเมืองอยู่ที่ตำบลบ้านยะลา ครั้งที่ ๒ ได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ตำบลท่าสาป (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๓ ได้ย้ายไปตั้งที่เมืองสะเตง (ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปัตตานี) ครั้งที่ ๔ ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลบ้านนิบง ในสมัยอำมาตย์โทพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา คนที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๕๘) ได้วางผังเมืองด้วยการหาจุดศูนย์กลางใจเมือง โดยการปักหลักไว้และเอาก้อนหินวางไว้เป็นเครื่องหมาย เรียกว่า "กิโลศูนย์” และลากเส้นวงกลมเป็นชั้น ๆ มีถนนรองรับเป็นตาข่ายลักษณะใยแมงมุมที่สวยงามที่สุดของประเทศไทยและได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดความสะอาด ๓ ปีซ้อน (พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๓๐) และในปี ๒๕๔๐ ได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกยกให้เป็น ๑ ใน ๕ เมืองของประเทศไทยในโครงการเมืองน่าอยู่ทั่วโลก คำขวัญประจำจังหวัดยะลา "ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” ตราประจำจังหวัดยะลา รูปเหมืองแร่ดีบุก หมายถึง พื้นที่ของจังหวัดยะลาอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ดีบุก และอาชีพหลักของ ประชาชนในอดีต คือ การทำเหมืองแร่ดีบุก ธงประจำจังหวัดยะลา แถบบนสีเขียว แถบล่างสีขาว สัตว์ประจำจังหวัดยะลา ช้างเผือก ต้นไม้ประจำจังหวัดยะลา ต้นศรียะลา ดอกไม้ประจำจังหวัดยะลา ดอกพิกุล วิสัยทัศน์จังหวัดยะลา ยะลาเมืองน่าอยู่ คู่สันติสุข ขนาด ที่ตั้ง อาณาเขตติดต่อ จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๕ – ๗ องศาเหนือและ เส้นแวงที่ ๑๐๐ – ๑๐๒ องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางรถไฟสายใต้ ๑,๐๓๙ กิโลเมตร และตามถนนเพชรเกษมสายเก่า ๑,๓๙๕ กิโลเมตร หรือสายใหม่ ๑,๐๘๔ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔,๕๒๑ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒.๘ ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ ๖.๔ ของพื้นที่ภาคใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดสงขลา และปัตตานี ทิศใต้ ติดต่อกับ รัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดนราธิวาส และรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสงขลา และรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่ตั้งและอาณาเขต

ก่อนกรุงศรีอยุธยา-สมัยธนบุรี

ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๓๑) พระองค์ทรงได้ธิดาของมุขมนตรีแห่งปัตตานีคนหนึ่งเป็นพระสนม ในฐานเมืองประเทศราช ปัตตานีมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายทุก ๑ ปี อ้างอิงจากบันทึก ลา ลูแบร์(La LOUBERE) อัครราชทูตฝรั่งเศส (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ.๒๓๑๐ ปัตตานีจึงตั้งตนเป็นอิสระ มาสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕) ปัตตานีได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อไประยะหนึ่ง จนถึงปลายสมัยธนบุรีซึ่งเกิดความวุ่นวายภายในจึงเป็นอิสระ

กรุงรัตนโกสินทร์

สมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองปัตตานีโดยให้เมืองสงขลาเป็นผู้ควบคุมดูแลเมืองปัตตานี (จากเดิมที่อยู่ในความดูแลของนครศรีธรรมราช) แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ เมือง คือ ปัตตานี ยะหริ่ง สายบุรี ยะลา รามัน ระแงะ และหนองจิก จึงนับว่าเมืองยะลาได้แยกมาตั้งเป็นเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ.๒๓๓๔ เมืองยะลาเมื่อแยกออกจากเมืองปัตตานีแล้วมีอาณาเขตดังนี้
• ทิศเหนือ ติดต่อกับเมืองหนองจิก
• ทิศใต้ ตั้งแต่เขาปะวาหะมะ ไปทางทิศตะวันออกถึงเขาปะฆะหลอ สะเตาะเหนือ บ้านจินแหร จนถึงคลองท่าสาปจรดบ้านบันนังสตา
• ทิศตะวันออก ติดต่อกับเมืองยะหริ่งตั้งแต่หมู่บ้านโหละเปาะยาหมิง มีสายน้ำยาวไปจรดคลองท่าสาป
• ทิศตะวันตก ติดต่อเมืองไทรบุรีมีคลองบ้านบาโงย แขวงเมืองเทพา เป็นเขตขึ้นไปจนถึงบ้านยินงต่อไปจนถึงบ้านเหมาะเหลาะ

ก่อน พ.ศ. ๒๓๖๐ มีต่วนยะลา เป็นพระยายะลา ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ตั้งตัวเมืองยะลาครั้งแรก ต่วนบางกอกเป็นเจ้าเมือง และนายเมืองเป็นพระยายะลาคนต่อมา โดยได้รับพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า พระยาณรงค์ฤทธีศรีประเทศวิเศษวังษา(เมือง) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๐ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสาปในรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) ต่วนบาตูปุเต้ เป็นพระยายะลา มาสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ตั้งต่วนกะจิ บุตรพระยายะลา (ต่วนบาตูปุเต้) เป็นเจ้าเมือง

การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยดำเนินการปกครองแบบเทศาภิบาล สำหรับบริเวณ ๗ หัวเมือง ได้ประกาศข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ ๗ หัวเมือง ร.ศ. ๑๒๐ กำหนดให้บริษัท ๗ หัวเมืองมีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณเป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานทั่วไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช

แต่ละเมืองจะมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๔๔ พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณได้แบ่งแต่ละเมืองเป็นอำเภอต่างๆ โดยเมืองรามัน แบ่งเป็น ๒ อำเภอ คือ อ.กลางเมือง กับ อำเภอเบตง ส่วน เมืองยะลา แบ่งเป็น ๓ อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อำเภอยะหา และอำเภอกะลาพอ ต่อมาปี ๒๔๕๐ ได้แบ่งเมืองยะลาออกเป็น ๒ อำเภอ คือ อำเภอเมือง และ อำเภอยะหา ปลายปี ๒๔๗๕ ได้ประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ได้มีการปรับปรุงการปกครองหัวเมืองตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร ยะลาจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้

แหล่งที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลา

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar