วันที่ 13 ก.ย.66 ที่ห้องประชุม ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดยะลา ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดยะลา ในอำนาจหน้าที่ แผนงาน งบประมาณ มาตรการในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กตามพระราชบัญญัติฯ การจัดหาทุนเพื่อการสงเคราะห์ การตรวจสอบหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงกรณีมีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบ การติดตามประเมินผลตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ และส่งเสริมความประพฤติเด็กในเขตจังหวัด เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ โดยมีนางสุภาพร วุฒิศาสตร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยะลา นางฟาซียา อาแซ หัวหน้ากลุ่มการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ และคณะกรรม เข้าร่วม
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้รายงานข้อมูลด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดยะลา ข้อมูลสถานการณ์ด้านกระบวนการยุติธรรม ข้อมูลเด็กที่พึงได้รับการสงเคราะห์ ตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 รวมทั้งข้อมูลการจัดการบริการพื้นฐานสำหนับเด็กและเยาวชน โดยทางคณะกรรมการได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่มีความเร่งด่วน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.เด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบชุด อายุ 0-5 ปี ได้รับวัคซีนร้อยละ 66.95 จากจำนวนทั้งสิ้น 21,362 คน และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 23 ในพิ้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส กำลังเผชิญกับภาวะเตี้ยแคระเกรน 2.ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พบว่าจังหวัดยะลา มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2565 จำนวน 315 ราย เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ส่งผลเสียต่อบุตรและแม่วัยใส โดยทางจังหวัดได้เสริมสร้างให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทักษะชีวิต และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 3.เด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า ปี 2565 มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน จำนวน 1,760 ราย ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ เรียนไม่ทันเพื่อน ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวไม่พร้อมตลอดจนพฤติกรรมเด็ก
โดยทางคณะกรรมการได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ให้ความรู้เรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ผู้ปกครอง รวมทั้งผลดีและผลเสียของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็ก การสร้างความตระหนักให้เด็กและครอบครัว มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทักษะชีวิต ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และให้ทางสถานศึกษา สร้างความเข้าใจระหว่างผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของกฎระเบียบและข้อบังคับของโรงเรียน ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอน ติดตาม ดูแลและให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ใช้เหตุผลในการแก้ไข รวมทั้งติดต่อประสานผู้ปกครองทันทีด้วย ระบบ Line หรือ Facebook พร้อมทั้งการจัดหาทุนการศึกษาให้นักเรียน