กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดการระบายน้ำ ลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ยะลา

ผอ.สำนักชลประทาน ที่ 17 ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ หลังเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายน้ำ ยะลา ปัตตานี เผย กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดการระบายน้ำ ลดผลกระทบต่อประชาชนให้เร็วที่สุด


 

วันที่ 13 พ.ย.65 นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน ที่ 17 พร้อมคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปัตตานี หลังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลฝนตกหนักต่อเนื่อง ตามประกาศของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 1 (33-2565) มีผลกระทบในช่วงวันที่ 10-13 พฤศจิกายน2565 ที่ผ่านมา  โดยได้เดินทางประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำที่โครงการชลประทานยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดยมีนายสุพรชัย ปรีชา ชลประทานยะลา รายงานสถานการณ์ พร้อมทั้งตรวจติดตามปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่ตำบลท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา จากนั้นเดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี รอยต่อระหว่าง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ ต.ตาเซะ อ.เมือง จ.ยะลา โดยมีนายจงกรม สมพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดปัตตานี พื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 


 

นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน ที่ 17 เปิดเผยว่า จากอิทธิพลฝนตกหนักในพื้นที่ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนตั้งแต่วันที่ 9-12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของเขื่อนบาง ที่ อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง อ.ยะหา และ อ.เมืองยะลา ปริมาณฝนสะสม 3 วัน ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 110 มม. สูงสุด ประมาณ 170 มม. ทำให้เกิดมวลน้ำ ที่ตกลงท้ายเขื่อนบางลางไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานี ประกอบกับเขื่อนบางลางได้มีการปล่อยระบายน้ำลงมา ประมาณ 8 ล้านลูกบาศ์กเมตร/วัน ทำให้มีน้ำ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากฝนตก และน้ำจากเขื่อนบางลาง ทำให้ระดับน้ำที่บ้านท่าสาปสูงเกินความจุของแม่น้ำปัตตานี ไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่บ้านท่าสาป ณ ปัจจุบัน ระดับน้ำได้ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผนวกกับฝนในพื้นที่ลดลง สำหรับในส่วนของเขื่อนปัตตานี ที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากตอนบน เขื่อนบางลาง และฝนที่ตกลงมา ณ ปัจจุบัน มีการระบายน้ำผ่านเขื่อนปัตตานี  ในอัตรา 573 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที โดยมีการระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำฝั่งซ้าย และฝั่งขวา เพื่อช่วยตัดยอดน้ำให้ไปลงที่ อ.หนองจิก ไปลงทางด้านเขื่อนปัตตานี ทางด้านท้าย จากนั้นใช้ประตูระบายน้ำปีกรี ซึ่งอยู่ด้านตอนล่าง แบ่งน้ำลงคลองตุยง หนองจิก ในอัตราไม่เกินความจุของลำน้ำ และน้ำส่วนหนึ่งปล่อยระบายทางแม่น้ำปัตตานี เพื่อลงสู่ทะเลปัตตานี  ส่วนการบริหารจัดการน้ำนั้น ได้มีการระบายน้ำไม่ให้เกินความจุของลำน้ำ เพื่อไม่ได้ปริมาณน้ำที่ระบายลงไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างน้อยที่สุด จากการบริหารจัดการมวลน้ำ ที่ผ่านมา มีพื้นที่ตอนล่างกระทบ 3 พื้นที่ คือ คลองตุยง ต.ลิปะสะโง บ้านโคกยาร่วง ต.ลิปะสะโง และที่บ้านจางา ต.ปะกาฮะรัง มีประชาชนได้รับผลกระทบ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 10,000 ไร่ 
 

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านเขื่อนปัตตานีไปแล้ว ฝนในพื้นที่น้อยลง เป็นช่วงที่ดีที่ทางเขื่อนปัตตานี จะสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลที่ปัตตานีได้ เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนน้อยลง จะสามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และในระยะถัดไป ที่มีการแจ้งเตือนฝนตกในพื้นที่ 13-16 พ.ย.นี้ ทางเขื่อนปัตตานีก็จะเร่งพร่องระบายน้ำ โดยใช้อาคารชลประทานทั้งหมด ทั้งคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ เป็นเครื่องมือที่จะลำเลียงน้ำจากพื้นที่ไปออกทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar