มาตรการเยียวยาช่วยเหลือ การจ้างงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด - 19 ทุกภาคส่วนได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน หรือธนาคารต่าง ๆ ต่างดำเนินการวางแผนเยียวยามา อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในที่ประชุม ครม. อนุมัติ 3 มาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มการจ้างงาน

1. ครม. เห็นชอบอนุมัติวงเงินอุดหนุน 1,500 ล้านบาท ให้ธนาคารออมสิน ดำเนินมาตรการ “สินเชื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อให้ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อทุนเริ่มต้นในการประกอบอาชีพ หรือเสริมสภาพคล่องให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงช่วยลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มเป้าหมาย

1. ผู้เริ่มประกอบอาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ผ่านการอบรมอาชีพช่างทุกประเภท เช่น ช่างปูน ช่างแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่างซ่อมอุปกรณ์ เป็นต้น และผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เช่น เสริมสวยหรือตัดผมชาย คนขายของออนไลน์ เป็นต้น โดยมีใบประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนหรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพหรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพดังกล่าว

2. ผู้ประกอบการขนาดย่อม ที่มีสถานที่จำหน่ายแน่นอน เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โชห่วย แฟรนไชส์ เป็นต้น โดยมีทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนการค้า สัญญาแฟรนไชส์ หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของอื่นๆ

3. ผู้ขับขี่รถสาธารณะ เช่น ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ รถตู้สาธารณะ รถขนส่งสินค้า รถบรรทุก โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะหรือเอกสารอื่นๆ ตามประเภทของอาชีพ

เกณฑ์วงเงินสินเชื่อ

• วงเงินสินเชื่อ ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

• ระยะเวลาการขอยื่นสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565

• ระยะเวลาการกู้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 5 ปี (ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก)

• อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99% ต่อปี

2. ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลานายจ้างลงทะเบียนส่งเสริมจ้างงานเอสเอ็มอีรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. - 20 ธ.ค. นี้ พร้อมอนุมัติปรับปรุงโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ เอสเอ็มอี

รายละเอียดในการปรับปรุงโครงการ

1.เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุน

• นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนนำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปโดยให้มีผล ในงวดเงินสมทบเดือนพฤศจิกายน นี้เป็นต้นไป (นำส่งข้อมูลเงินสมทบผ่านระบบ e-Service ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2564)

2.วิธีดำเนินงาน

• เพิ่มช่องทางการลงทะเบียน ทั้งผ่านเว็บไซต์ส่งเสริมการจ้างงาน เอสเอ็มอี.doe.go.th และยื่นแบบฟอร์มพร้อมหลักฐาน ณ สำนักงานจัดหางานหรือหน่วยเคลื่อนที่ของสำนักงานจัดหางาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในระบบแทนนายจ้าง

• ขยายระยะเวลาการลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. – 20 ธ.ค. 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงานลูกจ้างสัญชาติไทย ไม่เกิน 200 คน ระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค.2564 และ ม.ค.2565)

• ปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเงินอุดหนุน หลังจากวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากรัฐยังจ่ายเงินอุดหนุนยังไม่ครบถ้วนอีก ให้สามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมได้จนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธิ์ที่นายจ้างพึงได้รับ

3.มาตรการทางภาษี

• เงินอุดหนุนที่รัฐจ่ายให้นายจ้างจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วแต่กรณี โดยนายจ้างจะต้องไม่มานำเงินอุดหนุนดังกล่าวไปคำนวณเป็นรายได้และรายจ่ายในการหักภาษี

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ 20 ต.ค. - 10 พ.ย. 2564นายจ้างเข้าร่วมโครงการจำนวน 127,613 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 32.34 ของเป้าหมายนายจ้าง ลูกจ้างสัญชาติไทย จำนวน 2,062,356 คน คิดเป็นร้อยละ 51.12 ของเป้าหมายลูกจ้างสัญชาติไทย ทั้งนี้นายจ้างที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จำนวน 47,742 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 37.41 ของนายจ้างที่ลงทะเบียน ที่เหลืออยู่ระหว่างรอเจ้าหน้าที่อนุมัติเข้าร่วมโครงการ หรืออยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล

3. ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะ สร้างช่างฝีมือ ตามแนวทางโรงเรียนพระดาบสจำนวน 30 แห่ง เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2575 ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 1,169 ล้านบาท

โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ชายแดน ชายขอบ เขตชนบท และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษาหรือว่างงาน ได้มีทักษะวิชาชีพติดตัว สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ มีเป้าหมายจำนวน 900 คนต่อปี เป็นเวลา 10 ปี รวม 9,000 คน โดยเข้ารับการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพ 1 ปี

หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนตามแนวทางโรงเรียนพระดาบส คือ ระยะ 6 เดือนแรก จัดฝึกทักษะช่างพื้นฐาน 11 ทักษะอาชีพ เช่น ทักษะช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน ช่างเขียนแบบ เป็นต้น

• ระยะเวลา 3 เดือน ผู้เรียนจะเลือกทักษะที่สนใจเพื่อฝึกเป็นทักษะเฉพาะทาง

• ระยะเวลา 2 เดือน ผู้เรียนออกฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อฝึกทักษะอาชีพที่แท้จริง

• ระยะเวลา 1 เดือนสุดท้าย ผู้เรียนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานหรือมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ

ทั้งนี้จากการประเมินผลโครงการที่ผ่านมาในโรงเรียน 12 แห่งที่นำร่องจัดการศึกษาหลักสูตรระยะสั้นด้านอาชีพระยะเวลา 1 ปี พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาผ่านการประเมินมาตรฐานอาชีพทุกคน และผู้สำเร็จการศึกษาได้กลับคืนถิ่นภูมิภาคของตนร้อยละ 100


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
บทความที่น่าสนใจ